APEC Engineers กับการเปิดเสรี
ดร.วิสิทธิ์ อุติศยพงศา
บริษัท วิสิทธิ์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด
เลขที่ 75/16 ชั้น 10 อาคารริชมอนด์ สุขุมวิท 26 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
โทร 0-2259-3867-9 โทรสาร 0-2259-5041
E-mail: we@weconsultants.co.th
บทคัดย่อ
กระแสการเปิดเสรีตลาดวิชาชีพวิศวกรหรือภาคบริการได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วมีส่วนได้เปรียบในภาคบริการมากกว่า จึงยากที่ประเทศใดจะยับยั้งหรือต้านทานได้ การเจรจา WTO ไม่ค่อยมีความก้าวหน้ามากนัก ประเทศต่างๆ จึงหันมาเจรจาระดับภูมิภาค เช่น ASEAN, APEC และระดับทวิภาคี คือ FTA (Free Trade Agreement) แต่การเปิดเสรีตลาดบริการวิชาชีพวิศวกรนั้นมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคแตกต่างจากอาชีพอื่นคือวิชาชีพวิศวกรเป็นกลุ่มวิชาชีพที่จะต้องขึ้นทะเบียนหรือมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกร (Registered Engineer หรือ Licensed Engineer) เนื่องจากการออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกร (Licensing) ของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันทั้งทางด้านกฎหมาย, มาตรฐานการศึกษา และมาตรฐานการประกอบวิชาชีพวิศวกร ดังนั้นในการประชุมรัฐมนตรีเอเปก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 ณ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้ความเห็นชอบโครงการยอมรับร่วมในสาขาวิชาชีพวิศวกร (Professional Engineer Mutual Recognition Project) ตามที่ APEC Human Resource Development Working Group (APEC HRD WG) เสนอ ต่อมาในปี 2540-2543 APEC HD WG Steering Committee ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการมาโดยลำดับ แนวทางของโครงการคือตั้ง Bench mark และกรอบของคุณสมบัติทางด้านการศึกษา, ประสบการณ์, การออกใบอนุญาตประกอบอาชีพวิศวกรและการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณสมบัติของประเทศสมาชิกใดได้รับการรับรองว่าได้มาตรฐานตามกรอบที่วางไว้จากกรรมการประสานงานวิศวกรเอเปก (APEC Coordinating Committee) ประเทศสมาชิกนั้นก็สามารถจดทะเบียนวิศวกรเอเปก (APEC Engineers Registration)ให้กับวิศวกรในประเทศนั้นได้ ซึ่งการเจรจา FTA ก็ดี หรือ ASEAN ก็ดี ก็ใช้แนวทางเดียวกับ APEC Engineers ในการเจรจาข้อตกลงเทียบเท่า (Manual Recognition Agreement : MRA) ซึ่งการตกลง MRA จะทำให้การเคลื่อนย้ายวิศวกรจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งสะดวกขึ้นและจะนำไปสูการเปิดเสรีตลาดบริการวิชาชีพวิศวกรในที่สุด
1. วัตถุประสงค์ของวิศวกรเอเปก (APEC Engineers)
1.1 เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายวิศวกรระหว่างประเทศสมาชิกเอเปกโดยวิธีการเทียบเคียง (Mutual Recognition) คุณสมบัติ, ประสบการณ์, การจดทะเบียนวิศวกรควบคุม และการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง
1.2 วิศวกรที่ได้ขึ้นทะเบียน วิศวกรเอเปกจะได้รับการยกเว้นจากการประเมิน (Assessment)
คุณสมบัติและประสบการณ์จาก Host Country ที่เป็นสมาชิกเอเปก
1.3 ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมวิชาชีพวิศวกรของประเทศสมาชิกเอเปก
2. ความหมายของวิศวกรเอเปก (APEC Engineers)
วิศวกรเอเปกคือบุคคลที่ยอมรับให้เป็นวิศวกรอาชีพ (Professional Engineer) และได้ผ่านการทดสอบและตรวจสอบคุณสมบัติตามเกณฑ์ของประเทศสมาชิกซึ่งได้รับการรับรองโดยกรรมการประสานงานร่วมของวิศวกรเอเปก (APEC Engineering Coordinating Committee) เรียบร้อยแล้ว เกณฑ์ดังกล่าวประกอบด้วย
2.1 การรับรองการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (Accreditation of Engineering Program)
2.2 มีประสบการณ์หลังจบปริญญาตรี 7 ปี (Practical Experience)
2.3 มีประสบการณ์วิศวกรรมควบคุมอย่างน้อย 2 ปี (Responsible Charge of Significant
Engineering Experience)
2.4 ผ่านการทดสอบจากสภาวิศวกรจนได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกร
2.5 มีการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง (Continuing Professional Development : CPD) ตาม
เกณฑ์ที่กำหนดคือ 50 ช.ม. ต่อปี
3. โครงสร้างของวิศวกรเอเปก
โครงสร้างวิศวกรเอเปกประกอบด้วย
3.1 Monitoring Committee
เมื่อประเทศสมาชิกเอเปกใดต้องการจะขึ้นทะเบียนวิศวกรเอเปกให้กับวิศวกรของตน ประเทศสมาชิกนั้นจะต้องนำเสนอการประเมิน (Assessment Statement) การออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของประเทศนั้นๆ ให้กับกรรมการประสานงานของวิศวกรเอเปก (Coordinating Committee) รับรอง Assessment Statement จะประกอบด้วย
– สาขาวิศวกรรมควบคุม
– การรับรองสถาบันการศึกษาวิศวกรรม (Engineering Education Accreditation)
– การประเมินประสบการณ์ (Engineering Experience)
– การทดสอบความรู้
– การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (Continuing Professional Development : CPD)
เมื่อ Assessment Statement ผ่านการรับรองจาก APEC Coordinating Committee แล้ว ประเทศนั้นๆ ก็จะต้องแต่งตั้ง Monitoring Committee เรียกว่า National Monitoring Committee ทำหน้าที่เป็น Board Registration for APEC Engineers เป็นองค์กรอิสสระสำหรับขึ้นทะเบียน APEC Engineers ในประเทศนั้น สำหรับประเทศไทย, Assessment Statement ได้รับการรับรองจาก APEC Coordinating Committee แล้วเมื่อการประชุมที่ประเทศนิวซีแลนด์ พ.ศ. 2547 ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างระเบียบและแต่งตั้ง Monitoring Committee เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะสามารถจดทะเบียน APEC Engineers ได้
ปัจจุบันมีประเทศที่ได้รับการรับรองแล้ว 11 ประเทศคือ ออสเตรเลีย, แคนาดา, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สหรัฐอเมริกา และไทย ประเทศเหล่านี้สามารถทำการจดทะเบียนวิศวกรเอเปกได้
3.2 Co-ordinating Committee
Co-ordinating Committee ประกอบด้วยตัวแทนจาก Monitoring Committee ของแต่ละประเทศสมาชิก เมื่อตอนเริ่มต้น Co-ordinating Committee มาจาก Founding Member ซึ่งประกอบด้วย 7 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย, แคนาดา, ฮ่อกง, ญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย และนิวซีแลนด์ ต่อมาปี 2546-2547 มีประเทศอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สหรัฐอเมริกาและไทย เพิ่มเข้ามารวมปัจจุบันมี 11 ประเทศ
APEC Co-ordinating Committee มีหน้าที่
– รักษากรอบหรือกฎเกณฑ์ที่ประเทศสมาชิกได้ตกลงกัน
– ตัวแทนจาก Monitoring Committee ของแต่ละประเทศมีเสียงโวตได้ 1 เสียง
– ให้ความสะดวกเพื่อให้มีการกระจาย (Decentralize) การจดทะเบียนวิศวกรเอเปก
ไปยังประเทศสมาชิก
– ส่งเสริมให้มีการยอมรับวิศวกรเอเปกให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
4. ประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็น APEC Engineers และผลต่อการเจรจาเปิดเสรีตลาดบริการ
วิชาชีพวิศวกรรม
4.1 มีประโยชน์สำหรับบริษัทวิศวกรข้ามชาติที่ให้บริการในประเทศสมาชิกเอเปกสามารถเคลื่อนย้ายวิศวกรของบริษัทได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะวิศวกรเอเปกเป็นที่ยอมรับในประเทศสมาชิก ทั้งนี้ก็ขึ้นกับระดับการตกลงการเทียบเท่าหรือ MRA
4.2 การเป็นวิศวกรเอเปกเป็น Value Added ให้กับตัววิศวกรเอง แม้ว่าจะไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรจาก Host Country โดยอัตโนมัติ แต่การประเมินคุณสมบัติจะลดน้อยลงมาก ทำให้สามารถได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพได้ง่ายขึ้น หากมีการเจรจาตกลง MRA ถึงขั้นยอมรับในอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งกันและกัน (Mutual Recognition of Licensing) วิศวกรที่ได้จดทะเบียนเป็นวิศวกรเอเปกก็สามารถประกอบวิชาชีพวิศวกรในประเทศคู่เจรจาได้โดยเสรี
ปัจจุบันมีการจดทะเบียน APEC Engineers แล้ว 3,043 คน (รวบรวมถึงเดือนมิถุนายน 2547)
4.3 APEC Engineers Registration สามารถใช้เป็นกรอบ (Framework) ในการตกลง MRA (Mutual Recognition Agreement) ในการเจรจาทวิภาคี เช่น FTA หรือการเจรจาระดับภูมิภาค เช่น ASEAN หรือระดับพหุภาคีคือ WTO ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดเสรีตลาดบริการวิชาชีพวิศวกรหรือได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น